top of page

review: when marnie was there วันที่มาร์นีไม่อยู่ มิตรภาพ ความทรงจำ และความเจ็บปวดของเด็กสาวทั้งสอง



แต่ยังไม่ทันที่อันนาจะได้เรียนรู้ถึงความงดงามของมิตรภาพ มาร์นีก็อันตรธานหายไปเสียแล้ว ส่วนหนึ่งของคำโปรยปกหลังจาก When Marnie Was There หรือวันที่มาร์นีไม่อยู่ ชักชวนให้ผู้อ่านอยากติดตามเรื่องราวมิตรภาพอันแสนงดงามระหว่างอันนาและมาร์นี ว่าแท้จริงแล้วเด็กสองคนนี้คือใคร และเหตุใดมาร์นีจึงอันตรธานหายไปจากชีวิตของอันนา



วันที่มาร์นีไม่อยู่ แปลจาก When Marnie Was There เขียนโดย โจอัน จี โรบินสัน แปลไทยโดย ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ จำนวน 287 หน้า ตีพิมพ์ครั้งแรกปีพ.ศ. 2559 โดยสำนักพิมพ์เอิร์นเนส วันที่มาร์นีไม่อยู่บอกเล่าเรื่องราวของเด็กหญิงรักสันโดษจนแทบจะเข้ากับใครไม่ได้ที่ชื่ออันนา เธออาศัยอยู่ในลอนดอนกับมิสซิสเพรสตันซึ่งเป็นแม่บุญธรรม อันนาเป็นเด็กกำพร้าที่มีทัศนคติแง่ลบต่อพ่อแม่และคุณยายที่เสียชีวิตไปแล้ว สุขภาพกายเธอย่ำแย่ไม่ต่างอะไรกับสภาพจิตใจ คุณหมอประจำตัวจึงแนะนำให้เธอไปพักร้อนยังชนบทอันห่างไกล การใกล้ชิดธรรมชาติจะช่วยให้สุขภาพของเธอแข็งแรงขึ้น


หนังสือ วันที่มาร์นีไม่อยู่



ที่นั่น อันนายังคงรู้ตัวว่าเธอเข้ากับใครไม่ได้สักคนและรู้สึกว่าเธอเป็น ‘คนนอก’ อยู่ตลอดเวลา สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปโดยไม่ทันตั้งตัวทำให้เธอทำตัวไม่ถูกนัก รอบข้างมีแต่คนที่เธอไม่รู้จัก กิจกรรมเดียวที่เธอชอบทำคือเดินสำรวจไปรอบ ๆ ทั้งริมทะเล ชายหาด และโพรงทราย ที่นั่นเองทำให้เธอได้พบบ้านหลังหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ริมทะเล ในบ้านหลังนั้นเธอได้พบกับเด็กหญิงที่ชื่อมาร์นี ทั้งสองตกลงเป็นเพื่อนกันในที่สุด ทั้งอันนาและมาร์นีใช้เวลาร่วมกันทุกวัน การแบ่งปันเรื่องราวชีวิตทำให้ทั้งสองรักและผูกพันกันมากขึ้น แม้อันนาจะรู้ตัวดีว่ามาร์นีเป็นเพียงจินตนาการที่เธอสร้างขึ้นมาก็ตามที แต่แล้วในวันที่อันนามีความสุขที่สุด มาร์นีก็หายไปจากความทรงจำของอันนาเสียก่อน


ปริศนาเรื่องตัวตนของมาร์นีและบ้านหลังนั้นยังคงติดอยู่ในใจอันนาเพราะมีหลักฐานที่บ่งชี้ว่า

มาร์นีอาจมีตัวตนจริง ท้ายที่สุดแล้วความจริงจึงเปิดเผย แท้จริงแล้วมาร์นีมีตัวตนอยู่จริง และเป็นคุณยายแท้ ๆ ของอันนาที่เคยอาศัยอยู่ด้วยเมื่อครั้งยังเด็ก เรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างเธอและมาร์นีคือเรื่องเล่าที่คุณยายเล่าให้เธอฟังเป็นประจำก่อนนอน สุดท้ายแล้วอันนาจึงได้เรียนรู้ถึงความหมายที่แท้จริงของคำว่าครอบครัว และเรียนรู้ที่จะยอมรับความแตกต่างของตัวเอง



ในบทส่งท้ายของเรื่อง เขียนโดยลูกสาวของผู้เขียน เพราะตัวผู้เขียนอย่าง โจอัน จี โรบินสัน เสียชีวิตลงหลังหนังสือตีพิมพ์ครั้งแรกได้ 21 ปี เธอกล่าวว่ามารดาได้รับแรงบันดาลใจการสร้างตัวละครมาร์นีและบรรยากาศหมู่บ้านลิตเติ้ล โอเวอร์ตันจากการพักผ่อนช่วงวันหยุดฤดูร้อนในเมืองนอร์ธ นอร์ฟอล์ก รวมถึงการสร้างตัวละครอันนาจากความทรงจำวัยเด็กของเธอ ดังนี้



...ที่นั่นเป็นเกาะแก่งที่มีเนินทรายและหญ้ามาร์แรม มีบ้านเรือนอยู่อีกฟากของลำห้วย

มีบ้านกรานารี่ที่สร้างจากอิฐสีน้ำตาลแดง มีประตูกับหน้าต่างสีฟ้า

หน้าต่างชั้นบนของบ้านกรานารี่มีเด็กสาวตัวน้อยคนหนึ่งนั่งหวีผมสีอ่อนยาวอยู่

นี่คือจุดเริ่มต้นเรื่องราวของมาร์นี...


(วันที่มาร์นีไม่อยู่, โจอัน จี โรบินสัน, ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ แปล, หน้า 283)



การใช้ภาษาบรรยายเรื่องจะทำให้ผู้อ่านเห็นความงดงามของธรรมชาติที่อยู่รอบตัวอันนา โดยจะเจาะจงไปยังมุมมองของอันนาที่มีต่อทุกสิ่งรอบตัวเธอ ไม่ว่าจะบรรยากาศในขณะนั้น การกระทำ คำพูด และความคิดของผู้คนรอบตัว ทำให้ผู้อ่านเข้าใจถึงความรู้สึกของตัวละครได้เป็นอย่างดี เมื่ออ่านแล้วผู้อ่านจะรู้สึกถึงบรรยากาศการใช้ธรรมชาติบำบัดดังในวรรณกรรมคลาสสิคชื่อดังอย่าง ในสวนลับ ทว่าอันนาไม่ได้โชคดีเหมือนมารี ดิคคอน และคอลลิน เพราะที่หมู่บ้านลิตเติ้ล โอเวอร์ตันนี้ เธอแทบไม่มีเพื่อนสักคน ดังนั้นเพื่อชดเชยความว่างเปล่านี้เธอจึงสร้างตัวตนของมาร์นีขึ้นมาเป็นเพื่อนเล่นในจินตนาการ ทว่าด้วยการบรรยายที่เหมือนสับขาหลอกทำให้ผู้อ่านคล้อยตามและสงสัยว่ามาร์นีมีตัวตนจริงหรือเป็นเพียงความฝันเฟื่องของเด็กหญิงขี้เหงาคนหนึ่งเท่านั้น



ความสัมพันธ์ในครอบครัวคือประเด็นหลักของวันที่มาร์นีไม่อยู่ ตัวละครในเรื่องต่างมีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีบทบาทต่อความเป็นครอบครัวทั้งสิ้น ไม่ว่าจะครอบครัวที่สมบูรณ์หรือและไม่สมบูรณ์ ดังนี้



อันนามีทัศนคติลบต่อพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดและคุณยายแท้ ๆ ของเธอ เริ่มจากพ่อที่เมื่อหย่าร้างกับแม่ก็ทิ้งเธอไป แม่แต่งงานใหม่ได้ไม่นานก็ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต และคุณยายที่รับเธอไปเลี้ยงได้ไม่นานก็ป่วยและเสียชีวิตลงในที่สุด อันนาจึงถูกส่งตัวเข้าสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าทันที เธอกล่าวว่า “...ฉันเกลียดคุณยาย แล้วฉันก็เกลียดแม่ด้วย เกลียดทุกคนนั่นแหละ ท่านหนีไป สัญญาว่าจะกลับมา แต่ก็ไม่กลับมา ฉันเกลียดคุณยายที่ทิ้งฉันไว้คนเดียว ที่ไม่ยอมดูแลฉัน ไม่ยุติธรรมเลยที่ทิ้งฉันไป ฉันจะไม่มีวันให้อภัยท่าน ฉันเกลียดท่าน...” (เรื่องเดิม, ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ, หน้า 126-127)



เมื่อมีผู้รับอุปการะ อันนาก็ยังมิวายมีความคิดแบบเดิมกับครอบครัวใหม่ของเธออย่างมิสเตอร์และมิสซิสเพรสตัน แม้สองสามีภรรยาจะใจดีและรักอันนามากก็ตาม อันนาคิดว่าพวกเขาทำแบบนั้นไปตามหน้าที่ เพราะวันหนึ่ง เธอบังเอิญพบเอกสารค่าจ้างเลี้ยงดูในลิ้นชักที่มิสซิสเพรสตันเก็บไว้ เธอจึงคิดว่าความใจดีและความรักที่พวกเขามอบให้เธอ กลับมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง เธอจึงไม่ไว้ใจพวกเขา เธอกล่าวว่า “...เราจะอยากอยู่กับคนที่ได้รับเงินเพื่อรักเราได้ยังไง ความรู้สึกมันไม่เหมือนเดิมแล้ว ไม่อาจกลับไปเหมือนเดิมได้อีก...” (เรื่องเดิม, ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ, หน้า 129)



แต่ท้ายที่สุดแล้วการใช้ชีวิตในลิตเติ้ล โอเวอร์ตันทำให้เธอได้เรียนรู้และทำความเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการพูดคุยกับมาร์นีที่คอยรับฟังและช่วยปลอบประโลมจิตใจจึงทำให้อันนาปรับเปลี่ยนความคิดที่มีต่อครอบครัวของเธอดังนี้



...จู่ ๆ อันนาก็ตระหนักว่าความเกลียดชังเมื่อครั้งเก่าก่อนได้จางหายไปจนหมดสิ้นแล้ว

ราวกับในบางครั้ง เวลาที่เธอไม่ได้นึกถึง เธอให้อภัยทุกคนไปหมดแล้ว...


(เรื่องเดิม, ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ, หน้า 243)



แม้มาร์นีจะเป็นผู้รับฟังเรื่องราวของครอบครัวอันนาและคอยช่วยให้อันนาทำความเข้าใจความสัมพันธ์ ทว่าตัวเธอเองกลับบอบช้ำจากครอบครัวไม่ต่างกัน แม้เธอจะแสดงออกให้เห็นว่ามีความสุขและรักพ่อแม่มากเพียงใดก็ตาม ทว่าวัยเด็กของเธอช่างน่าสงสารนัก พ่อของเธอเป็นทหารและต้องไปประจำการยังที่ห่างไกล ส่วนแม่ของเธอเป็นสาวสวยก็จริง แต่ไม่ค่อยเหมาะที่จะเป็นแม่คนสักเท่าไร (เรื่องเดิม, ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ, หน้า 258) เธอยังสาว ยังสวย และมักจะสนุกในงานรื่นเริงที่ลอนดอนเป็นประจำ โดยเธอจะกลับมาอยู่กับมาร์นีเพียงช่วงวันหยุดฤดูร้อนเท่านั้น



เมื่อทั้งพ่อและแม่ไม่อยู่บ้าน มาร์นีจึงขาดการดูแลเอาใจใส่จากบุพการี พวกเขาละเลยเธอและ

ยกหน้าที่นั้นให้พยาบาลและเหล่าสาวใช้ในบ้านเป็นผู้ดูแลมาร์นี แต่โชคร้ายที่เธอโดนกลั่นแกล้งจากคนเหล่านั้นและโชคร้ายที่เธอปริปากบอกใคราไม่ได้ เป็นเวลาเนิ่นนานกว่าทุกอย่างจะสิ้นสุดลง “...มาร์นีถูกส่งตัวไปเรียนโรงเรียนประจำทันทีหลังจากนั้น ส่วนพยาบาลก็ถูกไล่ออก และกลายเป็นหญิงยากจนอนาถา” (เรื่องเดิม, ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ, หน้า 261) ทว่ากว่าความจริงจะเปิดเผยและคนไม่ดีจะได้รับการลงโทษก็สายเกินไปเสียแล้ว สายเกินกว่าที่หัวใจอันบอบช้ำของเด็กหญิงจะได้รับการเยียวยา



ความเจ็บปวดจากการไม่ได้รับความรักในวัยเด็กส่งผลโดยตรงเมื่อเธอเติบโตขึ้นและสร้างครอบครัว เพราะมาร์นีไม่ได้รับความรักตอนเป็นเด็ก เธอจึงไม่สามารถเป็นแม่ที่น่ารักใคร่ได้ในยามที่เธอต้องเป็นแม่คน (เรื่องเดิม, ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ, หน้า 267) เพราะมาร์นีไม่รู้ว่าการเป็นแม่ที่ดีควรปฏิบัติตนอย่างไร ไม่รู้วิธีมอบความรักให้แก่ลูกของเธอ เพราะเธอไม่เคยได้รับความรักรูปแบบนี้มาก่อนในชีวิต ดังว่า “น่าแปลกที่การได้รับความรักเป็นเรื่องหนึ่งที่ช่วยให้เราเติบโต ในแง่หนึ่ง มาร์นีจึงไม่เคยเติบโตขึ้นเลย” (เรื่องเดิม, ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ, หน้า 267)



วันที่มาร์นีไม่อยู่สอดแทรกภาพสะท้อนทางสังคมที่ผู้อ่านยังคงพบเห็นได้ในปัจจุบัน ภาพสะท้อนที่เกิดขึ้นในขณะนั้นยังคงเกิดขึ้นในปัจจุบัน แม้เรื่องราวจะเล่าถึงช่วงยุคสมัยสงครามโลกทั้งสองครั้ง จึงเห็นได้ชัดว่าไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนผ่านไปสักกี่ปี เรื่องราวชีวิตประจำวันของเด็กหญิงผู้แปลกแยกในหมู่บ้านชนบทนี้จะยังคงมอบบทเรียนให้ผู้อ่านได้เสมอมา



เมื่อมีสงครามเกิดขึ้น มันย่อมพรากทุกสิ่งไปจากมนุษย์เสมอ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง พ่อของมาร์นีประจำการอยู่ที่กองทัพเรือ เขาเสียชีวิตจากการจมน้ำระหว่างรบในสงคราม การสูญเสียครั้งนี้ทำให้มาร์นีถูกละเลยจากแม่ของเธอยิ่งกว่าเดิม เธอจึงเติบโตมาอย่างโดดเดี่ยวและถูกสาวใช้กลั่นแกล้ง เมื่อเติบโตขึ้นและแต่งงานได้ไม่นานเธอก็ให้กำเนิดลูกสาว ทว่าสงครามโลกครั้งที่สองเกิดขึ้นเมื่อลูกสาวของเธออายุเพียงหกขวบเท่านั้น ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยจากการโจมตีและทิ้งระเบิด เธอจึงต้องส่งตัวลูกสาวไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา



ระยะทางและความห่างไกลทำให้สองแม่ลูกต่อกันไม่ติด หกปีให้หลังเมื่อกลับมาลูกสาวเธอก็เปลี่ยนไปเป็นคนละคน ทั้งดื้อรั้นและไม่เชื่อฟังเธออีกต่อไป เพราะด้วยความโกรธเคืองที่มาร์นีส่งตัวเธอไปไกลทั้งที่เธอยังเป็นเด็ก “กลับกลายเป็นว่านอกจากจะถูกส่งตัวไปอยู่ที่อื่นนานถึงหกปีในช่วงสงครามแล้ว พ่อยังมาเสียชีวิตอีก เอสแม่จึงไม่เคยมีสิ่งที่เธอต้องการที่สุด นั่นคือพ่อแม่ที่รักเธอ” (เรื่องเดิม, ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ, หน้า 267) เห็นได้ชัดว่าไม่ใช่แค่มาร์นีเท่านั้น แต่ลูกสาวของเธออย่างเอสเม่ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่เจ็บปวดจากสงคราม



ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่วันที่มาร์นีไม่อยู่สอดแทรกไว้ในเรื่องราวมิตรภาพอันแสนอบอุ่นหัวใจระหว่างเด็กหญิงและเพื่อนในจินตนาการที่ไม่ได้อยู่ในจินตนาการเท่านั้น มาร์นีอยู่กับอันนาเสมอแม้เธอจะไม่เคยรู้ตัวเลยก็ตาม ประสบการณ์ในวัยเด็กของมาร์นีที่อันนาเคยรับรู้และหลงลืมไปแล้วเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยเหลือและปลอบประโลมจิตใจอันห่อเหี่ยวของเด็กหญิงให้กลายเป็นคนร่าเริงและกระฉับกระเฉงมากขึ้น สุขภาพกายและใจได้รับการเยียวยาในที่สุด มาร์นีอยู่ในก้นบึ้งความทรงจำของเธอ และจะอยู่เคียงข้างอันนาตลอดไป



ผู้อ่านสามารถซื้อหนังสือเรื่อง วันที่มาร์นีไม่อยู่ ได้ตามร้านหนังสือทั่วไปหรือสั่งซื้อกับทางสำนักพิมพ์เอิร์นเนสได้โดยตรงผ่าน https://www.gnebookstore.com/landing และรับชม วันที่มาร์นีไม่อยู่ ได้จากช่องทางสตรีมมิง Netflix







บรรณานุกรม


โจอัน จี โรบินสัน. (2559). วันที่มาร์นีไม่อยู่. แปลโดย ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ. กรุงเทพฯ: เอิร์นเนส.


Comments


bottom of page